การเริ่มต้นเลี้ยงแมว

ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงแมว





ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงแมวทั้งหมดนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงแมวพันธุ์และแมวไทย ขอให้ปรับใช้ตามความเหมาะสม

การเตรียมตัวก่อนการรับแมวมาเลี้ยง
1. คุณจะต้องดูความพร้อมของตนเองเสียก่อน ว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตที่จะเพิ่มขึ้นมาไหม รวมทั้งกำลังทรัพย์
ในการเลี้ยงดูแมวที่จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก เช่น ค่าอาหาร ค่าของใช้ ค่ายาวัคซีน ค่าจิปาถะ
2. คุณจะต้องดูสถานที่ที่จะใช้เลี้ยงแมวของคุณ ว่าเหมาะสมหรือไม่ ในการเลี้ยงแมว เช่น มีความปลอดภัยมากแค่ไหน มีบริเวณมากแค่ไหน หากเป็นห้องพัก ทางห้องพักอนุญาติให้คุณเลี้ยงได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่คุณรับแมวมาเลี้ยง
3. หลังจากคุณดูความพร้อมทั้งของตนเองและสถานที่เรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มศึกษารายละเอียดของแมวที่คุณจะนำมาเลี้ยง ว่าอยากได้พันธุ์ไหน สี ราคา นิสัย ลักษณะอย่างไร โดยอาจจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็ได้
4. หลังจากตัดสินใจได้แล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการเลือกซื้อแมว โดยคุณอาจจะเลือกซื้อจากฟาร์มแมวที่รู้จัก หรือเลือกซื้อจากเวปขายแมวในอินเตอร์เน็ต บางคนอาจไปเลือกซื้อตามตลาดนัด แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล
5. หากคุณตัดสินใจในการเลี้ยงแมวแน่นอนแล้ว ควรจะต้องหาซื้ออุปกรณ์มาเตรียมรอไว้ได้เลย เช่น อาหารแมว แชมพู กะบะทรายแมว ทรายแมว แปรง ที่ตัดเล็บ ไดร์ ผ้าเช็ดตัวแมว อาหารเปียก นมแพะ เป็นต้น เป็นการเตรียมตัวก่อนการรับแมวมาอยู่บ้าน

การพิจารณาและตัดสินใจก่อนซื้อแมว
1. หลังจากที่คุณพบแมวที่ถูกใจแล้ว ราคาเหมาะสมกับที่ตั้งไว้ คุณจะต้องสังเกตแมวด้วยว่ามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากน้อยเพียงใด ลูกแมวที่ดี จะต้องร่าเริง เล่นซน ไม่ซึม ขี้ตาไม่เกาะตาเยอะจนเกรอะกรัง ไม่ผอมมากจนเกินไป ลักษณะของลูกแมวที่ดีจะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคติดตัวมากับตัวแมว เช่นเชื้อรา แต่สำหรับลูกแมว จะเป็นเชื้อราได้ง่าย ผู้ซื้อแมวส่วนใหญ่จะประสบปัญหานี้มาก อยากให้ตัดสินใจให้ดีก่อนซื้อ ว่าสามารถรักษา รับมือกับเชื้อราได้หรือไม่
2. ในกรณีที่ซื้อแมวจากต่างจังหวัดที่มีการจัดส่งแมวมาให้ คุณจะต้องทำการตกลงกับเจ้าของแมวให้เข้าใจในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสเปคของแมว ราคา การโอนเงิน และให้เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ให้หมด เช่น ใบโอนเงิน ข้อมูลการสนทนากันทางอินเตอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ เอกสารการขาย เพื่อป้องการการหลอกลวงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3. คุณจะต้องสอบถามเจ้าของแมวให้มากที่สุด เกี่ยวกับข้อมูลการเลี้ยงดูของแมว เช่น อาหารยี่ห้ออะไร แชมพู การดูแล ขนมที่ชอบ นิสัยส่วนตัวของแมว โรคประจำตัว การทำวัคซีน การดูแลแมว
4. คุณจะต้องดูอายุของลูกแมวที่จะซื้อด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ หากอายุน้อยเกินไปจะทำให้แมวอ่อนแอมาก เพราะได้รับนมแม่น้อย หรือบางตัวยังไม่หย่านมแม่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ หากรับมาแล้วอาจจะทำให้ตายได้ อายุของลูกแมวที่เหมาะสมที่สุดคือ ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป
5. หลังจากซื้อลูกแมวแล้ว คุณจะต้องสอบถามจากผู้ขายว่าทำวัคซีนแมวอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ทำวัคซีนต่อให้ครบได้อย่างถูกต้อง หากทำไปบ้างแล้วคุณจะต้องขอสมุดวัคซีนจากผู้ขาย เพื่อเอาไปทำต่อ หากผู้ขายยังไม่เคยทำวัคซีนให้แมว คุณสามารถนำแมวไปเริ่มต้นทำวัคซีนได้ทั้งหมด




ขั้นตอนการเลี้ยงแมว
1. หลังจากซื้อแมวแล้ว ขั้นตอนแรกที่สำคัญมากและควรทำอย่างด่วนคือ การนำแมวไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูความแข็งแรงและสุขภาพของแมว คุณหมอจะแจ้งให้ทราบผลการตรวจให้ทราบว่าแมวที่คุณซื้อมานั้นมีโรคหรือไม่ และจะจัดตารางการทำวัคซีนให้ด้วยพร้อม
2. การพาแมวเข้าบ้านจะมี 2 ลักษณะคือ เป็นแมวตัวแรกที่คุณเลี้ยง หรือเป็นแมวที่คุณซื้อเพิ่มมาอีกโดยที่มีแมวเก่าอยู่แล้ว หากเป็นแมวตัวแรกและตัวเดียว การพาแมวเข้าบ้านปัญหาที่พบมากคือ แมวจะไม่คุ้นสถานที่ จะตื่นกลัว หลบซ่อน ไม่กิน ไม่ถ่าย เป็นอาการปกติสำหรับแมวย้ายบ้านใหม่ เวลาจะทำให้ดีขึ้น แมวจะต้องใช้เวลาปรับตัว ประมาณ 2-3 วันจะดีขึ้น และยอมกินอาหาร ขับถ่าย อาหารที่ดีที่สุดของลูกแมว คือนมแพะ เพราะมีวิตามิน ใกล้เคียงนมแม่แมวมากที่สุด และไม่เป็นอันตรายแก่ลำใส้ ย่อยง่ายกว่านมวัว ไม่แนะนำให้เลี้ยงด้วยนมวัว เพราะย่อยยาก และยังจะทำให้แมวท้องเสียได้ง่าย แต่หากเป็นแมวที่คุณซื้อมาเพิ่มจากเดิมโดยมีแมวตัวเก่าอยู่แล้ว ปัญหาที่พบมากคือ แมวเก่าและแมวใหม่เข้ากันไม่ได้ วิธีนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร อันดับแรกควรแยกแมวออกจากกันก่อนเพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรทิ้งแมวเก่าและใหม่อยู่ด้วยกันตามลำพังในระยะแรก เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แรกๆแมวจะขู่กันเป็นเรื่องปกติ ให้ใช้วิธี ใช้ผ้าสะอาดเช็ดก้นของอีกตัวหนึ่ง แล้วไปป้ายหน้าของอีกตัวหนึ่ง ทำแบบนี้บ่อยๆเพื่อให้แมวคุ้นชินกลิ่นกัน และสามารถเข้ากันได้
3. หลังจากที่แมวเข้ากันได้แล้ว คุณจะต้องไม่ลืมกำหนดการฉีดวัคซีนของแมว ห้ามช้ากว่ากำหนด เพราะจะทำให้การฉีดได้ผลไม่เต็มที่หากมีธุระต้องไปทำในวันที่คุณหมอนัดฉีด สามารถพาแมวไปฉีดล่วงหน้าได้โดยการปรึกษาคุณหมอถึงวันที่เหมาะสมในการฉีด
4. แมวจะต้องถ่ายพยาธิ ถ้าเป็นแมวเด็กแนะนำให้ถ่ายพยาธิเดือนละ 1 ครั้ง หากเป็นแมวโตจะถ่ายทุกๆ 3 เดือน เพื่อสุภาพที่ดีของแมว เราสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยการซื้อยามาให้เค้ากินได้
5. อาหารแมวแต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกันไป ควรเลือกซื้ออย่างเหมาะสม และเหมาะกับแมวแต่ละตัว ต้องสังเกตว่าแมวของคุณชอบอาหารชนิดไหน หากมีกำลังทรัพย์มากพอสมควร ควรเลี้ยงด้วยอาหารเกรดพรีเมี่ยม เพื่อสุขภาพที่ดีของแมว เพราะอาหารเกรดตลาดบางชนิดมีรสเค็มมาก ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวกับแมวได้ เช่น โรคลำใส้ โรคไต และโรคตับ เป็นต้น
6. อาหารที่ดีที่สุดสำหรับแมวคืออาหารเม็ด เพราะคุณค่าทางอาหารจะครบมากกว่าอาหารที่ปรุงเอง หรืออาหารเปียก ควรเน้นให้อาหารเม็ดเป็นหลัก อาหารเปียกเป็นบางมื้อ เสริมขนม และนมแพะ หากแมวไม่ยอมกินอาหารเม็ด จะต้องงดการให้อาหารเปียกและนมแพะ แล้ววางอาหารเม็ดทิ้งไว้ หากแมวหิวมากจะกินอาหารเม็ดเอง






การอาบน้ำและการดูแล
1. แมวขนยาวจะต้องทำความสะอาดด้วยการอาบน้ำบ่อยกว่าแมวขนสั้น อายุแมวที่สามารถอาบน้ำได้คือ ตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป หากอาบน้ำแมวอายุน้อยกว่านั้นจะเสี่ยงกับแมวป่วยได้ เพราะแมวยังเด็กไม่แข็งแรงมาก จะแนะนำให้เป็นการอาบแห้งไปก่อน โดยการใช้มูสแห้งเช็ดตัว หรือผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวไปก่อน
2. การอาบน้ำแมวโดยทั่วไปจะทำตามความเหมาะสม โดยจะพิจารณาจากความสกปรกของแมว ว่ามากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปจะอาบประมาณ 1-2 อาทิตย์ ต่อ 1 ครั้ง
3. การเตรียมตัวก่อนอาบน้ำแมวที่สำคัญคือ การเตรียมน้ำอุ่นไว้สำหรับอาบน้ำแมว หากไม่มีใช้น้ำปกติได้ แต่ต้องไม่เย็นมากจนเกินไป ตัดเล็บมือและเท้าแมวให้สั้น เพื่อป้องกันการข่วน กัด เกาะ ของแมวเวลาอาบได้
4. เวลาอาบน้ำแมวไม่ควรใช้น้ำรดบริเวณหัวของแมว ควรใช้แค่ผ้าชุบน้ำเช็ดก็พอ ควรอาบตั้งแต่บริเวณคอลงมาถึงบริเวณหาง โดยการวักน้ำให้แมวได้รู้สึกตัวก่อน ที่จะรดน้ำเปียกทั้งตัว หากเป็นไปได้ให้จับแมวยืน 2 สองขา จะช่วยให้การทำความสะอาดง่ายและทั่วถึงทั้งตัว ใช้แชมพูชโลมและถูให้ทั่ว เน้นบริเวณข้อพับต่างๆ และบริเวณอวัยวะเพศ เพราะมีความสกปรกมาก เน้นบริเวณหาง จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนหมดคราบแชมพู
5. ใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดตัวแมวให้พอหมาดๆ หากใช้เป็นผ้าชามัวร์ได้จะดีมาก เพราะจะดูดซับน้ำได้ดีกว่ามาก ใช้ผ้าเช็ดตัวแมวให้แห้งหมาดๆ และห่อตัวแมวไว้เพื่อป้องกันแมวหนาว จากนั้นใช้ไดร์เป่าให้แห้ง ในกรณีแมวอาบน้ำครั้งแรกจะกลัวเสียงไดร์ แนะนำให้ค่อยๆเปิดเบาๆก่อน แล้วค่อยเร่งความแรง ป้องกันแมวตกใจ เป่าขนโดยเน้นมากบริเวณข้อพับต่างๆ ซอกหู ซอกแขน ขา โคนหาง ให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันเชื้อรา
6. หลังการเป่าจนตัวแห้งแล้ว อาจใช้แฮร์โค้ทสำหรับแมวชโลมเพื่อบำรุงขนด้วยก้อได้
7. โดยปกติแมวจะชอบแต่งตัวเอง โดยการเลียขนบ่อยมาก ทำให้มีขนติดไปในลำใส้แมวเยอะ วิธีที่จะป้องกันขนแมวพันลำใส้ได้ดีคือ การหาไผ่เงิน ตำแยแมว มาให้แมวกินเพื่อขับก้อนขนออกมาโดยการอ้วก นอกจากนี้แล้วยังมีอาหารแมวบางชนิดที่มีคุณสมบัติขับก้อนขนด้วย จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
8. ควรหมั่นแปรงขนและหวีขนให้แมวบ่อยๆ เพื่อป้องกันขนแมวพันกัน และยังเป็นการกระตุ้นขนแมวที่ร่วงให้หลุดออกมาเพื่อผลัดเซลล์ขนใหม่ ทำให้แมวมีขนสวย เงางามมาก
9. ควรมีเวลาให้แมวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงเพื่อเล่นกับเค้า อาจจะหาไม้ตกแมวมาเล่นกับเค้า เพื่อเป็นการช่วยออกกำลังกายให้แมวมีสุขภาพแข็งแรง
10. หากแมวของคุณมีปัญหาการขับถ่ายไม่เป็นที่ แนะนำให้ฝึกแมวได้ด้วยวิธีคือ หากแมวถ่ายไม่เป็นที่ให้ใช้ทิชชู่ เช็ดอึ หรือฉี่แมวไปไว้ในกะบะทราย และอุ้มแมวเข้าไปดมในกะบะทรายบ่อยๆ ทำแบบนี้จะช่วยให้แมวจำได้ว่าที่ถ่ายของตนเองอยู่ที่ไหน ส่วนบริเวณที่แมวไปถ่ายบ่อยๆให้ทำความสะอาดให้หมดกลิ่น อาจใช้น้ำส้มสายชูเช็ดก่อนทำความสะอาด เพราะแมวจะจำกลิ่นเก่งมาก และจะมักไปถ่ายที่เดิมๆที่เคยถ่ายไว้เสมอ ในระยะแรกอาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการฝึก
11. สำหรับการทำวัคซีนประจำปีครั้งต่อไปของแมว จะเป็นไปตามกำหนดในใบนัดจากโรงพยาบาล ให้จดไว้ ห้ามลืมโดยเด็ดขาด
12. โปรดจำไว้เสมอ ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน ต้องมีเวลาให้แมวของคุณด้วย เพราะเค้าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตมีจิตใจ เค้าต้องการการดูแล เอาใจใส่ ต้องการความรักจากเรา เพื่อที่เค้าจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.catandkittenstory.com(เครดิตใบเตย มี้ชีโร่กะเต้าหู้)

 

2 comments:

  1. เตี๊ยบทานข้าวเย็นรึยัง หิวมั้ย เป็นห่วงเสมอนะ

    ReplyDelete
  2. เยี่ยมมากเลยค

    ReplyDelete